โลกอาหรับ

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ ทรงยศ แววหงษ์
 
เนื่องจากอาจารย์ทรงยศกำลังแปลและเป็นบรรณาธิการแปลหนังสือชื่อ History of the Arabs  เว็บ*หมายเหตุสังคมจึงขอสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้
 

หนังสือ History of the Arabs พูดถึงเรื่องอะไรบ้าง

พูดถึงดินแดนอาหรับว่าอยู่ตรงไหน คนอาหรับมีหน้าตาอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร กินอะไร วิถีชีวิตและความเชื่อต่างๆ เป็นอย่างไร  จากชนเผ่า คนอาหรับค่อยๆ เริ่มสร้างเป็นราชวงศ์ขึ้นมาได้อย่างไร  พูดถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่คือกำเนิดของศาสนาอิสลามในคริสต์ศตวรรษที่ 7  พูดถึงช่วงเวลาที่ถือกันว่าเป็นยุคทองของอาหรับซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของ Umayyad และ Abbasids คือช่วงประมาณศตวรรษที่ 9 11 ที่อาระเบียมีความรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน เลยไปจนถึงการเติบโตขึ้นเป็นจักรวรรดิออตโตมันและสงครามโลกครั้งที่ 1

 

หนังสือเล่มนี้ยังเจาะลึกรายละเอียดในแง่มุมต่างๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของศาสนาด้วย อย่างเช่น ความเจริญเฟื่องฟูด้านศิลปวิทยาการ  มีการพูดถึงดาราศาสตร์ที่มีการบันทึกสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นตำราดาราศาสตร์ขึ้นมา  เรื่องเลขอารบิคที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือการพบเลข 0 ซึ่งทำให้เกิดการผสมตัวเลขได้อีกมากมายมหาศาล  (น่าสนใจว่าคนอาหรับเรียกเลขชนิดนี้ว่าฮินดี ซึ่งอาจจะแสดงว่าเลขชุดนี้จริงๆ แล้วมาจากอินเดียก็ได้) หรือในทางการแพทย์ ได้เล่าถึงการทดลองหาที่ตั้งของโรงพยาบาลในกรุงแบกแดดโดยการนำชิ้นเนื้อไปวางตามจุดต่างๆ ในเมือง และสรุปว่าถ้าพื้นที่ตรงไหนทำให้เนื้อนั้นเน่าช้าที่สุด ก็จะเป็นที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับการสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น

 

ทำไมถึงอยากจะแปลหนังสือเล่มนี้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมได้เดินทางในดินแดนแถบตะวันออกกลาง จึงอยากจะหาความรู้เกี่ยวกับคนอาหรับ  บังเอิญได้พบหนังสือเล่มนี้ที่ซีเรีย  พอหยิบมาอ่าน ก็รู้สึกว่าช่วยให้ผมเข้าใจคนอาหรับมากขึ้น  ได้ตระหนักว่าเรายังเข้าใจอาหรับผิดๆ อยู่หลายเรื่อง  ที่สำคัญ ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดที่น่าสนใจมากในแง่ของประวัติศาสตร์สังคม  เราได้เห็นความรุ่งเรืองในอดีต เห็นจุดบกพร่องต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจกันในที่สุด

 

อีกเหตุผลหนึ่งคือผมสนใจเรื่องราวของมุสลิม  ในปัจจุบัน บทบาทของมุสลิมทั่วโลกมีความสำคัญมากขึ้น แต่เรากลับมีความเข้าใจเขาน้อยมาก ทำให้ดูเหมือนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก เช่น ปัญหาภาคใต้ของเรานั้น ผมคิดว่าสาเหตุที่มันวุ่นวายไม่รู้จบก็เพราะเราไม่เคยรู้จักเขาเลย

 

จริงอยู่ที่ว่าทุกวันนี้ มุสลิมจำนวนมากไม่ได้เป็นคนอาหรับแล้ว ยกตัวอย่างเช่น คนที่นับถืออิสลามในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในไทย หรือแม้กระทั่งในบางแคว้นของจีนหรือในทวีปอัฟริกาเหนือ  แต่ผมเชื่อว่าถ้าอยากจะเข้าใจศาสนาอิสลาม เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของโลกอาหรับก่อน  นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อยากให้คนอื่นได้อ่านหนังสือเล่มนี้กัน

 

ขอเหตุผลแรกก่อนแล้วกันนะคะ  อาจารย์เห็นว่าเรายังเข้าใจอาหรับผิดๆ ในเรื่องอะไรบ้างคะ

เรื่องแรกเลยก็คือเรามักจะเหมารวมว่าอาหรับคือมุสลิมและมุสลิมคืออาหรับทั้งที่มีคนอาหรับที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีกเยอะแยะ  นอกจากนั้น เวลาเราพูดคำว่าอาหรับ เรามักจะมีภาพว่าคือคนที่มาจากตะวันออกกลาง  จะเห็นได้ว่าเราใช้คำว่าอาหรับ มุสลิมและตะวันออกกลางแทนที่กันไปมาราวกับว่ามันคือสิ่งเดียวกัน  แถมเวลาที่นึกถึงตะวันออกกลาง คนไทยยังมักจะเหมารวมกลุ่มประเทศในเอเชียกลางอย่างอุซเบกิสสถานเข้าไปด้วย

 

ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าและดูเหมือนจะมีความหมายบางส่วนทับซ้อนกันอยู่ นั่นคือคำว่า แขก  ในภาษาไทย แขก มีความหมายตั้งแต่การเป็นผู้มาเยือนซึ่งเป็นใครก็ได้ ไปจนถึงคนพวกหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของไทย  แขกอาจจะหมายถึงแขกอินเดีย อาจจะหมายถึงแขกเปอร์เซีย (ที่เรามักเรียกว่า แขกขาว)  ต่อมา คำว่า แขก ก็ใช้เรียกคนอาหรับอื่นๆ ในตะวันออกกลางนอกเหนือจากเปอร์เซีย  และเมื่อคำว่าอาหรับกับมุสลิมแทบจะมีความหมายเดียวกันสำหรับคนไทย คำว่า แขก จึงถูกขยายไปใช้เรียกใครก็ตามที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น แขกมาเลย์ แขกอินโดฯ หรือแม้แต่คนกรุงเทพฯ ที่เป็นมุสลิม ทั้งที่ในแง่ของชาติพันธุ์แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวอาหรับ แต่เพิ่งถือกำเนิดในศตวรรษที่ 7 นี้เอง  อาหรับจึงเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่า เก่าแก่กว่ามุสลิม  กลุ่มชาติพันธุ์อาหรับเป็นกลุ่มชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเราเรียกว่าซาอุดิอาระเบียมาช้านาน  แต่ในสมัยก่อน ไม่มีคำว่าซาอุดิ มีแต่คำว่าอาระเบีย ซึ่งแปลตรงๆ ว่าดินแดนของคนอาหรับ

 

ความเข้าใจผิดอีกอย่างที่อยากพูดถึงคือเรื่องผู้หญิงในโลกอาหรับที่คนนอกมักจะมองว่ามีสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกับเพศชายในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ถึงสี่คน  ผมคิดว่าบทบัญญัติเพียงแต่เปิดช่องเอาไว้ว่าหากมีเหตุอันจำเป็น (เช่น ภรรยาไม่สามารถให้ความสุขได้ ไม่สามารถมีลูกสืบสกุลได้ หรือถ้าจำเป็นต้องช่วยเลี้ยงดูหญิงที่สามีตายในที่รบ) ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด เช่น ต้องสามารถเลี้ยงดูภรรยาทุกคนได้เสมอหน้ากันและต้องได้รับฉันทานุมัติจากภรรยาคนแรก เป็นต้น  แต่เรามักไปย่นย่อประเด็นดังกล่าวลงเหลือแค่ชายมุสลิมมีเมียได้สี่คนเท่านั้น

 

นอกจากนั้น คนนอกมักมองว่าผู้หญิงมุสลิมเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องเก็บตัวและปิดหน้าอยู่เสมอ  แต่ถ้ามองจากมุมของคนอาหรับซึ่งมีการปล้นสะดมอยู่ตลอด โอกาสที่ผู้หญิงจะถูกทำร้ายมีสูงมาก  ผู้หญิงจึงเปิดเผยตนเองแต่เฉพาะกับคนในครอบครัว  บางบ้านถึงกับมีที่เคาะประตูต่างกันสองอันเพื่อให้คนในบ้านรู้ว่าผู้มาเยือนเป็นหญิงหรือชาย  ถ้าเป็นชาย พวกผู้หญิงก็จะหลบไป เท่ากับเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับผู้หญิงไปในตัว

 

ความจริงแล้ว เวลาผู้หญิงอยู่ในหมู่ของตัวเอง ก็จะเปิดหน้าพูดคุยกันและมีชีวิตที่สนุกสนานเฮฮาไม่ต่างจากผู้หญิงอื่นๆ  มีข้อสังเกตทางมานุษยวิทยาว่าในสังคมซึ่งผู้หญิงมีชุมชนของเขาเอง เช่น ในฮาเร็ม ผู้หญิงจะเป็นผู้มีอำนาจจนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ควบคุมกิจการของราชสำนักตัวจริง ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกประยุกต์มาสู่ครอบครัวมุสลิมด้วย  บ่อยครั้งที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายกุมอำนาจภายในครอบครัวในขณะที่อำนาจของผู้ชายคือการได้ออกจากบ้านไปนั่งคุยกัน  แต่คนที่มีอำนาจแท้จริงกลับอยู่ในบ้าน

 

คราวนี้มาถึงเหตุผลข้อหลังบ้าง ทำไมอาจารย์จึงคิดว่าการจะเข้าใจศาสนาอิสลามได้ จำเป็นต้องเข้าใจโลกอาหรับก่อน

เพราะศาสนาอิสลามถือกำเนิดในดินแดนอาระเบีย โดยเกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์อาหรับก่อนแล้วจึงกระจายไปยังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ  ศาสดาของอิสลามก็เป็นคนอาหรับ  ดังนั้น วิถีชีวิตและวิธีคิดของคนอาหรับย่อมจะเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวทางต่างๆ ของชาวมุสลิมไม่มากก็น้อย

 

อาจารย์ช่วยเล่าประวัติของศาสดาศาสนาอิสลามหน่อยได้ไหมคะ

จากบันทึกที่เล่าประวัติของท่านมุฮัมมัด เรามักจะเห็นภาพท่านนั่งอยู่ในบ้านที่เป็นบ้านดินและปักชุนผ้าอยู่ตรงประตูบ้าน  ใครไป ก็เจอท่านได้  ทำให้เราเห็นภาพบุคคลคนหนึ่งซึ่งอายุมากแล้ว มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เรียบง่าย

 

ตามที่มีจารึกไว้ ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้า กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เล็กและได้รับการเลี้ยงดูโดยอา  ท่านเดินทางติดตามอาทำการค้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้พบและแต่งงานกับหญิงม่ายที่มีอายุมากกว่าและมีฐานะร่ำรวย  ท่านจึงมีเวลาได้ไปจำศีลภาวนาในสถานที่สงบๆ อย่างที่ท่านชอบ  ต่อมา เมื่อภรรยาคนแรกเสียชีวิตไป ท่านก็มีภรรยาและลูกอีกหลายคน

 

มีบันทึกว่าท่านชอบเข้าไปนั่งในถ้ำเล็กๆ เพื่อครุ่นคิดใคร่ครวญปัญหาต่างๆ  วันหนึ่ง ท่านเกิดนิมิตว่าเทวทูตมากระซิบบอกว่าท่านจะเป็นคนที่เผยแพร่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า  ตามจารึกยังบอกอีกว่าท่านเป็นคนที่ไม่ได้รับการศึกษา พูดจาก็ไม่คล่องแคล่ว  แต่เทวทูตก็ยังย้ำหลายครั้ง  เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่าการประจักษ์ของพระมุฮัมมัด

 

หลังจากนั้น ก็เกิดนิมิตที่สำคัญอีกครั้งคือท่านถูกพาตัวไปยังเมืองเยรูซาเล็ม  จากที่นั่น ท่านได้ขึ้นไปสวรรค์ชั้นที่ 7 เพื่ออัญเชิญพระคัมภีร์อัลกุรอานจากสรวงสวรรค์ลงมาสู่โลก  พระคัมภีร์นี้พระเจ้าทรงเขียนเป็นภาษาอาหรับโบราณซึ่งนักภาษาศาสตร์บอกว่าเป็นภาษาที่มีโครงสร้างงดงามสลับซับซ้อน  ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อกันว่าพระคัมภีร์ต้องเขียนด้วยภาษาอาหรับเท่านั้นเพราะหากแปลเป็นภาษาอื่น ความหมายดั้งเดิมก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้

 

หลังจากนั้น ท่านก็ถือว่ากิจกรรมสำคัญที่ต้องทำคือเผยแพร่คำพูดของพระเจ้าให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย  คนในเมืองเมกกะที่ท่านอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้องกับท่าน จึงเรียกท่านว่า มุสลิม ซึ่งหมายถึงคนที่ทรยศหรือคนที่ปฏิเสธศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดิม  ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองมะดีนะห์  ที่นั่นมีการตอบรับศาสนาของท่านดีทีเดียว  เราจึงถือว่าศาสนาอิสลามเริ่มขึ้นที่เมืองมะดีนะห์  เมื่อมีคนสนับสนุนมากขึ้น ท่านจึงเดินทางกลับมาและมีชัยชนะเหนือเมืองเมกกะในท้ายที่สุด  น่าสังเกตว่าศาสนาอิสลามนั้นนอกเหนือจากการเป็นศาสนาแล้ว ยังถือเป็นชุมชนที่มีลักษณะทางการเมืองด้วย คือเป็นรัฐอิสลาม

 

หลังจากประกาศศาสนาได้ 2-3 ปี ท่านก็มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและสิ้นชีวิตที่เมืองมะดีนะห์

 

ช่วยขยายความที่อาจารย์กล่าวว่าถ้าอยากจะเข้าใจศาสนาอิสลาม เราควรจะต้องรู้จักพื้นฐานของโลกอาหรับด้วยค่ะ

ในศาสนาอิสลามมีวัตรปฏิบัติหลายอย่างซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวัตรปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับชนเผ่าอาหรับที่ร่อนเร่ในทะเลทรายที่เราเรียกว่าพวกเบดูอิน (เบดุ หมายถึงการเดินทาง) อย่างเช่น ความเคร่งครัดต่อขนบและวิถีปฏิบัติ  เพราะความมีวินัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความอยู่รอดของเผ่าร่อนเร่ทุกเผ่า  พวกเบดูอินต้องเดินทางตามฝูงปศุสัตว์  สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นแพะหรือแกะ  พวกเขาจะไม่เลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่เพราะมันกินมากเกินไป  สัตว์เหล่านั้นให้ทั้งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์และให้นมที่พวกเขานำมาทำเป็นเนย ซึ่งจะทำให้เก็บเป็นอาหารประเภทโปรตีนไว้ได้นานขึ้น จนเราอาจกล่าวได้ว่าการทำปศุสัตว์คือชีวิตของคนอาหรับ

 

อาระเบียไม่มีต้นไม้ใหญ่  สิ่งที่จะช่วยให้ยังชีพได้คือพืช ต้นไม้เล็กๆ หรือหญ้าต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณที่ยังคงความชื้นไว้ได้  เมื่อหญ้าบริเวณนั้นหมด ก็ต้องย้ายไปยังแหล่งอื่นต่อไป  มันจึงเกิดเป็นการหมุนเวียนว่าในแต่ละช่วงฤดู พวกเขาควรจะอยู่ที่ไหน  (วิถีชีวิตลักษณะนี้ทำให้ผมนึกถึงไร่หมุนเวียนของพวกชาวเขาของเรา)  เมื่อผู้คนทั้งหมดจำเป็นต้องเดินทางไปในบริเวณที่มีอาหาร จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัดมากๆ  ชนเผ่าอาหรับจึงมีการปล้นสะดมกันอยู่เนืองๆ  จนมีคำพูดตลกๆ ที่บอกว่า ถ้าไม่ปล้นชนเผ่าอื่น ก็อาจจะต้องปล้นพี่น้องที่อยู่ข้างๆ แทน

 

อย่างไรก็ตาม ชุมชนที่เกิดการปล้นสะดมกันเองอยู่ตลอดเวลานั้นไม่สามารถอยู่รอดได้  ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างค่านิยมอะไรบางอย่างขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหรือ code of conduct  อาจจะเป็นข้อยกเว้นหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ช่วยตัดสินใจว่าจะปล้นสะดมใครเมื่อไร  พวกเขาจำเป็นต้องเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัดเพื่อความอยู่รอด  นี่อาจจะเป็นเหตุให้คนภายนอกเห็นว่าพวกอาหรับและมุสลิมมีกฎเกณฑ์ มีข้อห้ามต่างๆ มากมายและดูเคร่งครัดเหลือเกิน

 

เบดูอินเป็นพวกที่เชื่อมั่นในเกียรติและในการรักษาคำพูด  เพราะมิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถเรียกความนับถือยำเกรงและความไว้วางใจจากผู้อื่นได้  การที่จะให้ทรยศต่อเกียรติภูมิและคำพูดของตนเองจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเด็กที่ขายของคิดเงินเกิน  ระหว่างที่เถียงกันอยู่นั้น ไก๊ด์ซึ่งเป็นคนมุสลิมเดินมาถามผมว่าแน่ใจใช่ไหมว่าเด็กคนนี้โกงเพราะถ้าเขาโกงจริง เขาจะต้องถูกทำโทษอย่างรุนแรงเพราะถือเป็นการไม่มีสัจจะ อย่างนี้เป็นต้น

 

นอกจากนั้น พวกเบดูอินยังมีความผูกพันและยึดมั่นในชนเผ่าของตนและเคร่งครัดมากว่าเมื่อแขกมาถึงเรือนชานแล้ว เขาต้องดูแลดีมากกว่าคนที่อยู่ในบ้านด้วยซ้ำไป  นี่เป็นอีกวัตรปฏิบัติที่ได้กลายเป็นหลักการที่ยึดถือกันทั่วไปในสังคมมุสลิม  ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ใด เชื้อชาติไหน สัญชาติใดก็ตาม แต่หากคุณเป็นมุสลิมด้วยกันแล้ว เราก็เป็นพี่น้องกัน  ผมคิดว่าหลายศาสนาก็มีแนวความคิดเช่นเดียวกัน เช่น ศาสนาคริสต์ก็มีหลักคำสอนเรื่อง brotherhood  แต่ศาสนาอื่นๆ ไม่สามารถรักษาความเชื่อทำนองนี้ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน

 

อยากให้อาจารย์ปิดท้ายนิดนึงว่าอาจารย์ทึ่งเรื่องอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับโลกอาหรับและศาสนาอิสลาม

คงจะเป็นเรื่องของการเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่เรียกกันว่า ฮัชญ์  ลองนึกภาพว่าผู้คนมากมายเดินทางมาจากทุกสารทิศ  บางคนมาจากชนบทที่ห่างไกลในเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา  มีคนที่เดินทางมาจากโมรอกโค มาจากอินโดนีเซีย มาจากภาคใต้ของไทย  คนเหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย  มีประวัติศาสตร์ มีเชื้อชาติและภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน  แต่เมื่อเข้าร่วมพิธี ฮัชญ์ คนเหล่านี้ก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กันเหมือนเป็นคนคุ้นเคย

 

ศาสนาอิสลามจึงต้องมีกลไกที่สามารถร้อยสิ่งที่หลากหลายเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้  อย่างเช่นภาษา  ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพูดภาษาอะไรในชีวิตประจำวันก็ตามที แต่เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาแล้ว ก็ต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอาหรับเท่านั้น  สำเนียงพูดอาจต่างกันได้แต่ตัวเขียนจะเหมือนกันหมด  ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่มหัศจรรย์มากที่ความหลากหลายถูกร้อยเป็นแกนเดียวกัน อยู่บนโครงครอบใหญ่มากๆ คือศาสนาอิสลาม

ข้อความนี้ถูกเขียนใน หมายเหตุสังคม คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

5 ตอบกลับที่ โลกอาหรับ

  1. aungsana พูดว่า:

    I\’m Buddhist I like Muslim so much.

  2. far พูดว่า:

    i love and like ISLAM

  3. Ilham พูดว่า:

    I am happy to hear that

ใส่ความเห็น